สาระของบทเรียน ของ มานะ มานี ปิติ ชูใจ

มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ[6]

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

เล่ม 1-2 รวม 40 บท มีคำใหม่ 450 คำ โดยเล่ม 1 นำคำที่สื่อความหมายได้ มาเรียงเป็นคำ ๆ ผสมคำจากพยัญชนะบางตัวและรูปสระง่าย ๆ เริ่มจาก แม่ ก กา จนมีตัวสะกดทั้ง 8 แม่ คำควบกล้ำ, อักษรนำ, สระ, เครื่องหมายไม้ยมก, รูปวรรณยุกต์ทั้ง 4 รูป และไม้ทัณฑฆาต คำต่าง ๆ นั้นผูกเป็นเรื่องราว มีตัวละครจำนวน 5 คน ได้แก่ มานะ, ปิติ, วีระ เด็กหญิง 2 คน ได้แก่ มานี, ชูใจ มีสัตว์เลี้ยงประจำตัวเด็ก เช่น มานี มานะ มีหมาชื่อ เจ้าโต, วีระ มีลิง ชื่อ เจ้าจ๋อ, ปิติ มีม้า ชื่อ เจ้าแก่ และชูใจ มีแมวชื่อ สีเทา

เล่ม 2 มีเนื้อหาสอดแทรกให้เด็กรู้จักรักสัตว์ รักเพื่อน รักธรรมชาติ รักษาความสะอาดในโรงเรียน ตลาด มารยาทสังคม เช่นการกล่าวสวัสดี ขอโทษ และการใช้หางเสียง เป็นต้น

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 800 คำ ตัวละครยังคงเป็นชุดเดิม สอนคำใหม่อย่าง คำควบกล้ำ, ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา, อักษรนำ การย้ำคำที่ , สะกด โดยผูกกับเรื่องราวที่มีสาระเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เด็กควรรู้ ควรปฏิบัติ เช่น การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน, ดวงจันทร์, รุ้งกินน้ำ, การเดินทางโดยรถไฟ, ภูมิประเทศสองข้างทางรถไฟ ทำความรู้จักกับยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน, รถยนต์ ยังคงกล่าวย้ำเรื่องความสะอาดในสถานที่ต่าง ๆ วัฒนธรรมอย่างการขนทรายเข้าวัด ตักบาตร ลอยกระทง นอกจากนั้นยังสอนให้รู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สัญญาณจราจร, การรู้จักบุคคลในท้องถิ่น เช่น สาธารณสุขอำเภอ, เกษตรอำเภอ, ตำรวจ, นายอำเภอ เป็นต้น

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

รวมมี 20 บท มีคำใหม่ 1,200 คำ สอนเรื่องคำที่สะกดไม่ตรงมาตราในแม่ต่าง ๆ, การใช้ รร, ทร เป็น ซ, กลุ่มคำซ้อน, คำประวิสรรชนีย์, คำพ้องเสียง, คำราชาศัพท์ที่ควรรู้ ผูกเรื่องราวโดยแทรกนิทานพื้นบ้างอย่าง โสนน้อยเรือนงาม, ศรีธนญชัย, พระอภัยมณี ตอนสุดสาครปราบม้านิลมังกร, ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้ นอกจากนั้นยังมี เรื่องความรู้ทั่วไปนำมาสอดแทรกอย่างเช่น ยาเสพติด กิจกรรมของลูกเสือ ความรู้เชิงธรรมชาติศึกษา และยังมีการนำวรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน แทรกเข้ามา ส่วนตัวละครเริ่มเห็นนบุคลิกภาพต่าง ๆ กัน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 1,550 คำ นอกจากการเรียนรู้ภาษาไทยยังมีให้ความรู้ในวิชาอื่น ในส่วนภาษาไทย ความรู้ที่ได้เช่น เกมต่อคำไทย, กลุ่มคำ, รูปประโยคแบบต่าง ๆ, สำนวน, พังเพย, ภาษิตต่าง ๆ, ปริศนาคำทาย, การเขียนจดหมาย, การบันทึกประจำวัน, การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ เช่น ปรัศนี, อัศเจรีย์, นขลิขิต เป็นต้น ราชาศัพท์ มีเรื่องวรรณคดีไทยอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายแก้ว, คนังเงาะน้อย, สังข์ทอง, รามเกียรติ์ ตอน หนุมานลองดีพระฤๅษี, สุวรรณสาม ในด้านการให้ความรู้ประวัติศาสตร์เช่น ดอนเจดีย์, ท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร ส่วนด้านประเพณีไทยเช่น สงกรานต์, เล่นสะบ้า, ละครลิง, เพลงพวงมาลัย ในด้านความรู้ด้านอาชีพ เช่น เกษตรอำเภอ, การเลี้ยงปลานิล, การปลูกเงาะ, การเลี้ยงหอย นอกจากนั้นยังให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น การทำโทรศัพท์อย่างง่าย อีกทั้งยังมีการสอดแทรกด้านจริยธรรม เช่นการที่ปิติที่ไม่ยอมลอกข้อสอบของเพื่อน และตอนเก็บกระเป๋าสตางค์ได้แล้วนำไปคืนเจ้าของ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ในหนังสือเรียนชั้นปีนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกมี 20 บท ส่วนหลังเป็นนักเรียนค้นคว้านอกเวลา 4 เรื่อง มีการเรียนรู้ ความหมายของคำ ทุ่ม-โมง, ย่ำ-ยาม, เกาะหนู เกาะแมว, เกษตรกรที่หุบกะพง ส่วนด้านวรรณคดีไทย กล่าวถึงเรื่อง พระอภัยมณี ตอน สินสมุทร, รามเกียรติ์ ตอนน้ำบ่อน้อย ด้านการละเล่นไทยพูดถึงลักษณะเพลงเกี่ยวข้าว เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและการท่องเที่ยวเช่น เรื่องธรรมชาติของน้ำตก วีรกรรมที่บ้านบางระจัน, ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน และนิทานเรื่องสามัคคีเภท

ส่วนหลังของเล่ม ที่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา 4 เรื่องคือ เรื่องนกกระจาบ, เรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่และหาเนื้อหาปลา, เรื่องการผจญภัยของผ้าขี้ริ้ว (ผลงานนักเรียน) และ เรื่องแปล 1 เรื่อง คื่อเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เล่ม 1 มี 10 บท โดยสอนเรื่องด้านต่าง ๆ ทั้งการฟัง, พูด, อ่าน, เขียน และคิด เช่น การตั้งใจฟัง, การพูดในโอกาสต่าง ๆ, การเขียนจดหมาย, การใช้สำนวนอุปมาอุปมัย, การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เป็นต้น ในส่วนวรรณคดี เช่น เรื่อง พระรถเมรี, พระสังข์ศิลปไชย มีการให้ความรู้ด้านประวัตศาสตร์และตำนานอย่างเรื่อง พระยาพิชัยดาบหัก และประวัติวัดพนัญเชิง (พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และนางสร้อยดอกหมาก) ในส่วนรัฐพิธี กล่าวถึงพิธีพืชมงคล, พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และการลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนท้ายเล่มมีหนังสืออ่านนอกเวลา 3 เรื่องคือ ละครพูดเรื่อง พระร่วง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 สองตอน บทละครเรื่อง ระบำดอกฝิ่น (ผลงานนักเรียน) และเรื่องสั้น ไอ้ตุ่น ของรัชนี ศรีไพรวรรณ

เล่ม 2 มี 10 บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมุดบันทึก สอนให้ฝึกหัดการบันทึก ประวัตินักเล่านิทานอย่างอีสปและสุนทรภู่ ในด้านภาษา สอนการฝึกพูดโต้วาที เรื่อง การอ่านยากกว่าการเขียน มีเนื้อหาวรรณคดีอย่าง รื่อง รามเกียรติ์ ตอนศึกทรพี ส่วนในบทสุดท้าย กล่าวถึงการเรียนจบประโยคประถมศึกษา ในตัวละครของเรื่องก็แยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของตน

ใกล้เคียง

มานะ มานะ มานี ปิติ ชูใจ มานะ รัตนโกเศศ มานะ มหาสุวีระชัย มานะ โลหะวณิชย์ มานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์ มานะ คงวุฒิปัญญา มานะ แพรสกุล มานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต มานะ ประเสริฐวงศ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: มานะ มานี ปิติ ชูใจ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbookclub.com/product.detail.php?... http://prachatai.com/journal/2013/07/47507 http://su-usedbook.tarad.com/product-th-0-499694-%... http://www.yenta4.com/webboard/2/24698.html http://www.komchadluek.net/detail/20140416/182988.... http://www.sudipan.net/phpBB2/viewtopic.php?t=3594... http://oknation.nationtv.tv/blog/iheartia/2007/09/... https://www.facebook.com/275349643336411/photos/pc... https://teen.mthai.com/variety/69979.html